หัวโขนพระภรตมุนีเนื้อผง

หัวโขนพ่อครูฤๅษีพระภรตมุนีหล่อด้วยเนื้อผงมวลสารหัวโขนพระพิราพเก่าสมัยรัชกาลที่สอง ขนาดสองนิ้วฟุต จำนวนสร้าง ๕๑ หัว สร้างปีพ.ศ. ๒๕๕๑

ศิริพงศ์ ครุพันธ์กิจ

เสากาสีลิงคพิราปา

เสากาสีลิงคพิราปาจำลองขนาดเท่านิ้วก้อย สร้างจากเนื้อผงมวลสารหัวโขนพระพิราพเก่าสมัยรัชกาลที่สอง และ ภาพเก่ารูปพระอิศวรมหากาลไภรวะศิลปะธิเบต จำนวนสร้าง ๙๕ หลัก สร้างปี พ.ศ. ๒๕๕๑

ศิริพงศ์ ครุพันธ์กิจ

พระคเณศหน้าอาคารเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป

พระคเณศหล่อด้วยปูน ตั้งอยู่บนแท่นสี่เหลี่ยมแกะสลักลวดลายสวยงดงาม มีประวัติความเป็นมาดังนี้ แท่นหินนี้เดิมเป็นวัตถุอนุสรณ์ ในส่วนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้จัดสร้างปฐมบรมราชานุสาวรีย์เพื่อสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ในโอกาสฉลองอายุพระนครครบรอบหนึ่งร้อยปี ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕

ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ( ท้วม บุนนาค ) เป็นผู้อำนวยการสร้าง ณ สนามตรงหน้าศาลสถิตยุติธรรม แบบปฐมราชรนุสาวรีย์นั้นคิดจะสร้างเป็นบุษบกใหญ่ทำด้วยศิลา เป็นที่ตั้งพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ

เริ่มสร้างนั้นก่อเป็นฐานคล้ายบันไดห้าชั้น ส่วนบุษบกศิลานั้นใช้ช่างศิลามาจากเมืองจีน ใช้หินจากเขาสามมุก แต่ภายหลังปรากฏว่าไม่สำเร็จ สันนิษฐานว่าเป็นเพราะนายช่างผู้ออกแบบบุษบกเอาแบบตัวไม้ไปคิดสร้าง มิได้คำนึงถึงน้ำหนักของศิลาซึ่งมีน้ำหนักมากเมื่อนำไปประกอบยากจึงทิ้งค้างไว้เช่นนั้น จนเมื่อพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ห้าโปรดฯให้ทำสนามหลวงจึงดำรัสให้รื้อ ” ปฐมบรมราชานุสาวรีย์ ” นำเครื่องศิลาไปทิ้งไว้ ณ บริเวณกรมเจ้าท่า ซึ่งในเวลานั้นเป็นที่ทำการกรมโยธาธิการ

ต่อมากรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นำมารักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เมื่อโรงเรียนนาฏศิลป ปั้นองค์พระคเณศเป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน จึงได้นำแท่นหินนั้นมาประกอบเป็นฐานรองรับองค์พระคเณศ จวนจนกระทั่งปัจจุบัน

อาจารย์ประเมษฐ์ บุญยะชัย ( ศิลปินแห่งชาติ ) รวบรวมข้อมูล

ศิริพงศ์ ครุพันธ์กิจ

พิมพ์ฤๅษีหน้าหลังเหมือนกัน

พิมพ์หัวโขนพ่อครูฤๅษีพระภรตมุนีขนาด ๗ ซม. เนื้อผงด้านหลังเหมือนกันมวลสารของคุณครูอาคม สายาคม จำนวนสร้าง ๓๒ องค์ ปี พ.ศ.๒๕๒๙

ศิริพงศ์ ครุพันธ์กิจ

พิมพ์พระพิราพ

พิมพ์หัวโขนพระพิราพขนาด ๗ ซม. เนื้อผงด้านหลังอักษรมงคล “ขอคุณครูจงรักษาให้ข้าพเจ้าอยู่เย็นเป็นสุข” มวลสารคุณครูอาคม สายาคม จำนวนการสร้าง ๕๖ องค์ ปี พ.ศ.๒๕๒๙ 

ศิริพงศ์ ครุพันธ์กิจ

พิมพ์พระภรตมุนี

พิมพ์หัวโขนพ่อครูฤๅษี พระภรตมุนีขนาด ๗ ซม. เนื้อผงด้านหลังอักษรมงคล “ขอคุณครูจงรักษาให้ข้าพเจ้าอยู่เย็นเป็นสุข” มวลสารของคุณครูอาคม สายาคม จำนวนการสร้าง ๕๖ องค์ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙

ศิริพงศ์ ครุพันธ์กิจ

ศิริพงศ์ ครุพันธ์กิจ

ฟื้นเรื่องเก่าเล่าความหลัง

      วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นวันครบรอบ ๔๕ ปีที่พ่อจัดสมโภชเทวาภิเษกรูปเคารพสัญลักษณ์แทนครูขึ้นเป็นครั้งแรกในชีวิต

๑.รูปเคารพพิมพ์พระคเณศปั๊มขึ้นรูปด้วยผงธูปที่กระถางธูปบูชาองค์พระคเณศที่ตั้งอยู่หน้าตึกอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนนาฏดุริยางค์

๒.กระดาษแผ่นปั้มม้าหมู่บูชาหัวโขนพระคเณศ พ่อแก่พระภรตมุนี พระพิราพ แจกเพื่อนร่วมรุ่นที่เชื่อถือศรัทธาในเมตตาบารมีของครูเทพเจ้าของศิลปะวิชา รูปนี้ผู้ที่วางรูปแบบให้พ่อ คือ ผู้ที่เลี้ยงพ่อมาตั้งแต่แบเบาะเป็นเสมือนแม่ฅนที่สอง ต่อมาท่านเป็นครูผู้ประสาทวิชาให้พ่อ เป็นผู้อยู่เคียงข้างพ่อมาตลอดมากระทั่งท่านจากไปสู่สรวงสวรรค์ อาจารย์ปรานี สำราญวงศ์

 ศิริพงศ์ ครุพันธ์กิจ

บูชาเพื่อหวังจะดีจะรวย

ฅนเป็นจำนวนมากพยายามเสาะแสวงหาวัตถุรูปเคารพพลังงานภายนอกต่างๆมาเสริมสร้างพลังงานความสำเร็จให้มีในตน เพื่อความสมปราถนาในสิ่งที่พึงประสงค์ จนบางครั้งก็นำมามากเกินพอดีกลายเป็นสุสานเก็บของที่ว่าดีว่าเลิศนั้น จนยากที่จะปฏิบัติบูชาให้ถูกต้องตามกฏระเบียบที่ผู้สร้างวางไว้เข้าภาษิตที่ว่า “แต่แรกเริ่มเดิมทีก็เสาะแสวงหา พอได้มาก็ไม่เห็นเป็นแก่นสาน” พอใครว่าอะไรที่ไหนดีก็ตามแห่ไปซื้อหามาเพื่อจะได้ดีได้สำเร็จดังเขาว่า สำหรับวัตถุรูปเคารพสัญลักษณ์แทนครูที่พ่อสร้างขึ้นก็เช่นกัน พ่อสร้างเพื่อจุดประสงค์ให้ศิษย์มีไว้เป็นเครื่องเตือนใจว่าเป็นศิษย์มีครู จะได้มีขวัญมีกำลังใจในการดำเนินชีวิต ประกอบกิจการงานด้วยมีสติตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท อยู่ในกฏระเบียบ วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของสังคม

          วัตถุรูปเคารพของพ่อทุกพิมพ์ทุกรุ่นสร้างแบ่งกันใช้ในหมู่ศิษย์ ไม่จ้างเกจิดังอาจารย์ขลังมาเสกมาเป่าของที่พ่อสร้าง พ่อตั้งพิธีสมโภชเทวาพิเษก ขอเมตตาบารมีครูเทพเจ้าของศิลปะวิชา เพิ่มอิทธิพลังความเข้มขลัง แล้วมอบให้ศิษย์นำไปเสกเพิ่มเองด้วยการกระทำความดีมีกตัญญูรู้ตอบแทนคุณ บุพการีชนของตน พ่อถือว่าพลังกตัญญูเป็นพลังงานสูงสุดยิ่งกว่าการเสกเป่าด้วยผู้อื่น ส่วนบุคคลภายนอกที่สนใจรูปเคารพที่พ่อสร้างเผยแพร่สมควรที่จะเข้ามาตั้งพิธีพลีกรรมรับมอบประสิทธิจากมือพ่อด้วยตัวผู้ศรัทธาเชื่อถือเอง

        วัตถุภายนอกไม่ว่าพิมพ์ใดชนิดไหนไม่สำคัญเท่าวัตถุภายใน คือ ใจอันบริสุทธิ์ของตัวเอง พยายามปลุกปลอบสร้างขวัญกำลังใจที่ดีให้เกิดมีในตน ไม่มีใครเสกให้อุปสรรคเมฆหมอกความขุ่นมัวให้พ้นออกไปจากชีวิตของใครได้ นอกจากใจที่มีพลังกล้าแข็งในการเผชิญช่วงจังหวะร้ายของชีวิตให้ผ่านพ้นไปด้วยตัวตนของตนเอง “ปล่อยให้มันกระทบอย่าสะเทือน” ไม่มีกรรม(การกระทำ) ชนิดใดที่เกิดขึ้นแล้วตัวเราจะรับไม่ได้ ไม่มีกรรมสนองกรรมชนิดใดที่เกินกว่าที่เราจะรับไม่ได้ ถ้าจิตเรามั่นคงพร้อมย่อมผ่านอุปสรรคสู่ความสำเร็จที่รอคอยอยู่ข้างหน้า ฅนที่ไม่รักตัวเองย่อมไม่ปราถนาดีกับผู้อื่น จงจำไว้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างสำคัญที่ใจ

                                   ศิริพงศ์ ครุพันธ์กิจ

พระพิราพประทับขัดสมาธิเพชร

พระพิราพประทับขัดสมาธิเพชรบนฐานแปดเหลี่ยมขนาดหน้าตัก ๑๒ นิ้ว พิมพ์นิยม จำนวนสร้าง ๑๙ องค์ ปี พ.ศ. ๒๕๖๓

ศิริพงศ์ ครุพันธ์กิจ

พ่อครูฤๅษีพระภรตมุนี

พ่อครูฤๅษีพระภรตมุนี ในท่ารำพราหมณ์เข้า ขนาดเท่าฅนจริง ปั้นขึ้นรูปด้วยผงจีนทร์หมอ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙