วังหน้า

งานคล้ายวันสถาปนาครบรอบ ๘๘ ปี วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันอันทรงเกียรติ วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
กราบขอบพระคุณทุกท่านที่ทำให้งานที่ดีกับใจเกิดขึ้นครับ
ศิริพงศ์ ครุพันธ์กิจ

พระคเณศหน้าอาคารเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป

พระคเณศหล่อด้วยปูน ตั้งอยู่บนแท่นสี่เหลี่ยมแกะสลักลวดลายสวยงดงาม มีประวัติความเป็นมาดังนี้ แท่นหินนี้เดิมเป็นวัตถุอนุสรณ์ ในส่วนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้จัดสร้างปฐมบรมราชานุสาวรีย์เพื่อสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ในโอกาสฉลองอายุพระนครครบรอบหนึ่งร้อยปี ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕

ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ( ท้วม บุนนาค ) เป็นผู้อำนวยการสร้าง ณ สนามตรงหน้าศาลสถิตยุติธรรม แบบปฐมราชรนุสาวรีย์นั้นคิดจะสร้างเป็นบุษบกใหญ่ทำด้วยศิลา เป็นที่ตั้งพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ

เริ่มสร้างนั้นก่อเป็นฐานคล้ายบันไดห้าชั้น ส่วนบุษบกศิลานั้นใช้ช่างศิลามาจากเมืองจีน ใช้หินจากเขาสามมุก แต่ภายหลังปรากฏว่าไม่สำเร็จ สันนิษฐานว่าเป็นเพราะนายช่างผู้ออกแบบบุษบกเอาแบบตัวไม้ไปคิดสร้าง มิได้คำนึงถึงน้ำหนักของศิลาซึ่งมีน้ำหนักมากเมื่อนำไปประกอบยากจึงทิ้งค้างไว้เช่นนั้น จนเมื่อพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ห้าโปรดฯให้ทำสนามหลวงจึงดำรัสให้รื้อ ” ปฐมบรมราชานุสาวรีย์ ” นำเครื่องศิลาไปทิ้งไว้ ณ บริเวณกรมเจ้าท่า ซึ่งในเวลานั้นเป็นที่ทำการกรมโยธาธิการ

ต่อมากรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นำมารักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เมื่อโรงเรียนนาฏศิลป ปั้นองค์พระคเณศเป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน จึงได้นำแท่นหินนั้นมาประกอบเป็นฐานรองรับองค์พระคเณศ จวนจนกระทั่งปัจจุบัน

อาจารย์ประเมษฐ์ บุญยะชัย ( ศิลปินแห่งชาติ ) รวบรวมข้อมูล

ศิริพงศ์ ครุพันธ์กิจ

พระแก้ววังหน้า

วัดพระแก้ววังหน้า หรือ วัดบวรสถานสุทธาวาส ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล ตามความเข้าใจของเกือบทุกฅนเข้าใจว่า เป็นการขนานนาม เพื่อเป็นการเทียบเคียงกับ วัดพระแก้ววังหลวง ซึ่งประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร น้อยฅนที่จะทราบว่าในอาณาเขตพระราชวังบวรสถานมงคล เคยเป็นที่ประดิษฐาน พระแก้ววังหน้า เช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส แต่ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธศวรรย์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจุฑามณี ขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ที่สองในรัชกาลที่สี่ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตามพระราชอิสริยยศว่า สมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยูหัว

ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระมหาปราสาทขึ้นในพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งไม่เคยปรากฏมีในกาลก่อน และที่สำคัญอีกประกาหนึ่งคือ พระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกสีขาวหม่น โปรดเกล้าให้ตั้งกระบวนแห่นำมาพระราชทานให้ประดิษฐานไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล ณ พระที่นั่งพุทไธศวรรย์

พุทธลักษณะ พระแก้ววังหน้า เป็นพระพุทธปฏิมาประทับนั่งแบบมารวิชัย มีหน้าตักกว้าง ๓๗ เซนติเมตร สูงเฉพาะพระองค์ ๕๘ เซนติเมตร สูงรวมฐาน ๘๓ เซนติเมตร รศ. ดร ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ได้พรรณนาพุทธลักษณะพระแก้ววังหน้าไว้ว่า

พระพักตรค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระนาสิกแหลม พระโอษฐ์เรียว พระกรรณยาวจรดพระอังสา พระเศียรประดับด้วยพระศกทองคำ มีอุษณีษะขมวดพระเกศาเป็นเม็ดพระศก พระพุทธรูปครองอุตราสงค์ห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา มีชายอุตรสงค์พาดบนพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ปลายตัดเป็นเขี้ยวตะขาบ อุตราสงค์นี้จำหลักเรียบปราศจากริ้วผ้า พระพุทธรูปประทับเหนือปัทมาสน์ จำหลักบัวหงายซ้อนกัน ประดับด้วยแข้งสิงห์ มีผ้าทิพย์ขนาดใหญ่ จำหลักลายเครือเถา ห้อยประดับอยู่เบื้องหน้าพระปฏิมาองค์นี้

ครั้นสิ้นตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล็งเห็นว่า พระแก้ววังหน้า อาจเป็นอันตรายสูญหาย จึงทรงอัญเชิญกลับไปประดิษฐานไว้หน้าฐานชุกชี ของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

ผู้รวบรวมข้อมูล อาจารย์ประเมษฐ์ บุญยะชัย ( ศิลปินแห่งชาติ )

ศิริพงศ์ ครุพันธ์กิจ